ประวัติของสถานีตำรวจ

ประวัติความเป็นมา สถานีตำรวจภูธรกมลาไสย

        พื้นที่อำเภอกมลาไสย เป็นที่ตั้งของเมืองฟ้าแดดสงยางหรือที่เรียกเพี้ยนเป็น “ฟ้าแดดสูงยาง” บางแห่งเรียกว่า “เมืองเสมา” เนื่องจากแผนผังมีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ และได้เจริญรุ่งเรืองในสมัยทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕

        กาลต่อมาชาวลาว นำโดยเจ้าโสมพะมิตร อพยพออกจากอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์ อพยพครอบครัวท้าวเพียรบ่าวไพร่ ประมาณ ๓,๐๐๐ คนเศษ ไปตั้งอยู่ริมแม่น้ำปาวที่เรียกว่า แก้งสำโรง แล้วท้าวโสมพะมิตร ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวโสมพะมิตรเป็นที่พระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ขนานนามแก้งสำโรงขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ (พ.ศ.๒๓๓๖)

        อำเภอกมลาไสย มีประวัติความเป็นมา สมัยเดียวกับท้าวโสมพะมิตรตั้งเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๖ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาชัยสุนทรครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก ผู้ครองเมืองกาฬสินธุ์จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชัยสุนทร ติดต่อกันมาหลายคน จนถึงพระยาชัยสุนทร คนที่ ๗ ชื่อท้าวกิ่ง ประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๖ มีราชวงศ์เกษเป็นว่าที่อุปราช ต่อมาพระยาชัยสุนทร (กิ่ง) กับท้าวหนู น้องชายได้ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานสัญญาบัติในการเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และขอพระราชทานให้ท้าวหนูน้องชายเป็นว่าที่อุปราชด้วย ซึ่งก็ได้รับพระราชทานตามที่พระยาชัยสุนทร (กิ่ง) ต้องการ

        ต่อมาในแผ่นดินของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ถึง ณ วันปีขาลอัฐศก ศักราช ๑๒๒๘   (พ.ศ.๒๔๑๐) พระยาไชยสุนทรกิ่ง กับราชวงศ์เกษเกิดวิวาท พากันลงไปเป็นความค้างอยู่ในกรุงเทพฯ ราชวงศ์เกษได้ขอให้เจ้าพนักงานเข้ากราบบังคมทูล ขอแยกจาก เมืองกาฬสินธุ์ แล้วไปตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้เมืองกาฬสินธุ์ ริมลำนำปาว ห่างจากเมืองเดิมประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ที่ตั้งเมืองบริเวณนี้เป็นดงใหญ่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ราบมีต้นไม้ใหญ่นานาชนิด และมีต้นมะขามใหญ่เป็นจำนวนมาก คนจึงเรียกกันว่า “ดงมะขามเฒ่า” ทั้งมีหนองน้ำมีบัวนานาชนิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเมืองขึ้น บริเวณที่เรียกว่า “ปากน้ำดอกไม้” ที่ไหลมาบรรจบกับลำน้ำปาว และมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งราชวงศ์เกษขึ้นเป็นพระราษฎรบริหารเกษ เจ้าเมือง ขนานนามว่าเมือง “กระมาลาไสย”

        พระราษฎรบริหาร (เกษ) ปกครองเมืองกระมาลาไสย อยู่ประมาณ ๑๑ ปี ก็ถึงแก่กรรม เมืองสหัสขันธ์และเมืองกุดสิมนารายณ์ ก็แยกตัวออกจากการปกครองเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๒๑ ครั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒ จึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอุปราชทองบุตรของพระราษฎรบริหาร (เกษ) ขึ้นเป็นพระราษฎรบริหารแทนพ่อ แล้วตั้งราชวงศ์บัว น้องชายคนที่ ๒ เป็นอุปราช หลวงวิสัยยุทธนาน้องชายคนที่ ๓ เป็นราชวงศ์บริหารเมืองกระมาลาไสยสืบทอดกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๕

        จากปี พ.ศ.๒๔๓๓ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิรูปการปกครองหัวเมืองภาคอีสานออกเป็น ๔ กอง คือ หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก     หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ และในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงการปกครองหัวเมืองทั้ง ๔ เสียใหม่  โดยยุบรวมเข้าด้วยกันเหลือเพียง ๓ กอง คือ หัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวพรวน หัวเมืองลาวพุงขาว เมืองกาฬสินธุ์ และเมืองกมลาไสย เมืองภูแล่นช้างขึ้นกับเมืองลาวกาว สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้าสู่ระบบใหม่ที่สมบูรณ์เป็นการปกครองแบบ จังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เมืองกมลาไสย ก็ถูกยุบลงเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองมหาสารคาม พร้อมกับเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กุฉินารายณ์ สหัสขันธ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔

        พ.ศ.๒๔๙๐ มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ในประปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ให้แยกอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอกุฉินารายณ์ ออกจากการปกครองของจังหวัดมหาสารคาม ตั้งขึ้นเป็นจังหวัด เรียกว่า “จังหวัดกาฬสินธุ์”

        สถานีตำรวจภูธรอำเภอกมลาไสย ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีสิบตำรวจเอก ศิลา ไม่ทราบนามสกุล เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจคนแรก และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับงบประมาณและดำเนินการก่อสร้างที่ทำการสถานีตำรวจใหม่ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้หลังคามุงด้วยสังกะสี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมเปลี่ยนหลังคา เป็นหลังคามุงด้วยกระเบื้อง และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ ได้ทำการรื้อถอนอาคารหลังเก่าและจะทำการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ทดแทน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างไร ทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละงานไม่มีห้อง/ที่ทำงาน จึงได้ใช้หอประชุมและห้องพักเรือนแถว จำนวน 7 ห้องเป็นอาคารที่ทำการชั่วคราว

         ต่อมาปี พ.ศ.2558 ได้ย้ายที่ทำการสถานีตำรวจ มายังอาคารหลังใหม่ที่ได้ทำการก่อสร้างเสร็จแล้ว  ปัจจุบันอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ ตั้งอยู่ที่อาคารชั่วคราว และอาคารบ้านพักเรือนแถวข้าราชการตำรวจ หมู่ที่ ๑ ถนนสัญจรราชกิจ ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ รหัสไปรษณีย์ ๔๖๑๓๐ โทรศัพท์หมายเลข ๐ – ๔๓๘๙ – ๙๑๓๖  เว็บไซต์สถานีตำรวจ  :  https://kamalasai.kalasin.police.go.th

สถานภาพทั่วไป

สถานีตำรวจภูธรอำเภอกมลาไสย ตั้งอยู่ที่พิกัด ยูดี ๔๘๓๐๖๖ มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด จำนวน ๓๒๕.๕๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๐๓,๔๘๗.๕ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๔.๖๘๗ ของพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์   มีอาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมือง และอำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอยางตลาด และอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์

        อำเภอกมลาไสย แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๗ ตำบล ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ภายหลังจากที่ทางราชการแยกพื้นที่บางส่วนและประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอร่องคำแล้ว อำเภอกมลาไสย แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๓ ตำบล ๑๔๔ หมู่บ้าน และในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ทางราชการได้แบ่งแยกพื้นที่บางส่วน และประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอฆ้องชัย ทำให้อำเภอกมลาไสยคงเหลือเขตพื้นที่การปกครอง จำนวน ๘ ตำบล ๑๐๔ หมู่บ้าน ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น ๘ ตำบล ๑๑๑ หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลกมลาไสย , ตำบลดงลิง , ตำบลเจ้าท่า , ตำบลธัญญา , ตำบลหลักเมือง , ตำบลโพนงาม , ตำบลหนองแปน และตำบลโคกสมบูรณ์

        ยังแบ่งตามลักษณะการปกครองท้องที่ เป็นเทศบาล แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลกมลาไสย , เทศบาลตำบลธัญญา , เทศบาลตำบลหนองแปน เทศบาลตำบลดงลิง และเทศบาลตำบลหลักเมือง แล้วแบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลอีก แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเจ้าท่า , องค์การบริหารส่วนตำบลธัญญา , องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม , องค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย และ องค์การบริหารส่วนตำบล   โคกสมบูรณ์

        อำเภอกมลาไสยตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ ๕๓๑ กิโลเมตร  ใช้เวลาในการเดินทางจากจังหวัดถึงอำเภอ ประมาณ ๑๕ นาที สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะสำหรับการเกษตร มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน ๒ สาย คือ ลำน้ำปาวและแม่น้ำชี มีระบบชลประทานลำปาวครอบคลุมพื้นที่กว่าร้อยละ ๗๒ ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอกมลาไสย ใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรทั้งสิ้น ๑๗๗,๐๘๒ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๘๗ ของพื้นที่ทั้งหมด

ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมาสุม มี ๓ ฤดู

       – ฤดูร้อน         เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม ถึงเดือน เมษายน

        – ฤดูฝน           เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ถึงเดือน กันยายน

        – ฤดูหนาว        เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม ถึงเดือน กุมภาพันธ์