แนวปฏิบัติในการใช้ดุลยพินิจไม่ร้องคำร้องในคดีอาญา

O14

        1. พนักงานสอบสวนบันทึกการรับแจ้งความไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแล้ว รีบเสนอเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นถึงหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนพิจารณาสั่งภายใน ๒๔ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่บันทึกการรับแจ้งความไว้ในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี

       2. เมื่อผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานพิจารณาวินิจฉัยสั่งการแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องในทางแพ่ง ก็ให้ชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้แจ้งความทราบ และลงประจำวันเกี่ยวกับคดี พร้อมให้ผู้แจ้งความลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน

        3. กรณีผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยงานพิจารณาวินิจฉัยสั่งการแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องในทางอาญาไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินหรือความผิดต่อส่วนตัวก็ให้พนักงานสอบสวน พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

        4.  ในกรณีเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือแต่ไม่ยอม ร้องทุกข์ตามระเบียบ หรือเมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน หรือเมื่อมีหนังสือกล่าวโทษ เป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่า เขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อใน คํากล่าวโทษหรือบันทึกคํากล่าวโทษ พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนก็ได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับการ หรือผู้บัญชาการสำหรับหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนซึ่งขึ้นตรงต่อกองบัญชาการ หรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ ในกรณีผู้เสียหายขอความช่วยเหลือแต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามหน้าที่โดยมิชักช้าหลังจากนั้นจึงรายงานผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการสำหรับหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งขึ้นเทียบเท่ากองบัญชาการ เพื่อจะไม่ทำการสอบสวน กรณีดังกล่าวหากผู้บังคับบัญชามีความเห็นว่าไม่ต้องทำการสอบสวน ให้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับแจ้งความไว้ในสมุดสารบบการรับแจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญาโดยไม่สอบสวน

            ในกรณีเป็นความผิดอาญาแผ่นดินและไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนว่ามีมูลความผิดหรือไม่ ถ้าปรากฏเป็นความผิดแล้วเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการสอบสวนต่อไป